Skip to content Skip to footer

จาก First Jobber ถึงวัยเกษียณ เปิดวิธีออมเงินแต่ละวัยให้ได้ผลจริง

เป็นพื้นฐานสำคัญของความมั่นคงทางการเงิน หลายคนพยายามออมเงินมาตลอดแต่เก็บไม่เพิ่มสักที เปิดวิธีออมเงินที่เหมาะกับแต่ละวัย ทำอย่างไรให้ออมเงินแล้วได้ผลจริง มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น

วัยไหนควรออมเงินอย่างไร

วัยเริ่มต้นทำงาน (20-30 ปี)
เป็นช่วงที่เริ่มมีรายได้และมีภาระน้อย จึงเป็นโอกาสดีในการสร้างพื้นฐานทางการเงินที่มั่นคง ควรตั้งเป้าหมายออม 10-20% ของรายได้ โดยเริ่มต้นจากจำนวนที่ทำได้จริงแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้น การเปิดบัญชีออมเงินแยกจากบัญชีใช้จ่ายจะช่วยให้ไม่นำเงินออมมาใช้โดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ ควรเริ่มลงทุนในกองทุนรวมตั้งแต่อายุน้อยเพื่อให้ได้ประโยชน์จากพลังของการทบต้นที่มากขึ้น

วัยทำงาน (30-50 ปี)
ช่วงที่รายได้เพิ่มขึ้น แต่ภาระค่าใช้จ่ายก็อาจเพิ่มขึ้นด้วย ควรเน้นวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ ตั้งคำสั่งให้เงินเข้าบัญชีออมทันทีที่ได้รับเงินเดือนเพื่อไม่ให้นำไปใช้จ่าย ควรมีเงินสำรอง 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน และควรแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น

วัยสร้างครอบครัว (35-50 ปี)
ช่วงที่มีภาระครอบครัว ทั้งหนี้บ้าน และค่าเลี้ยงดูบุตร ควรวางแผนการเงินอย่างรอบด้าน ออมเงินเพื่อการศึกษาของบุตรตั้งแต่เนิ่นๆ ผ่านบัญชีเงินฝากหรือกองทุนรวม วางแผนการเงินเพื่อลดภาระในครอบครัวโดยบริหารหนี้ ไม่ก่อหนี้เกินความจำเป็น และสร้างสมดุลระหว่างการชำระหนี้และการออม ไม่ควรทุ่มเงินทั้งหมดไปกับการชำระหนี้จนไม่มีเงินออม

วัยเกษียณ (50 ปีขึ้นไป)
ช่วงที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตหลังเกษียณที่ไม่มีรายได้ประจำ ควรเน้นความสม่ำเสมอและการวางแผนที่รอบคอบเพื่อเกษียณอย่างมั่นคง ปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความเสี่ยงลดลง เน้นการรักษาเงินต้น และวางแผนการใช้เงินหลังเกษียณโดยคำนวณค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและวางแผนการเบิกถอนเงินอย่างเหมาะสม

2 เทคนิกการออมให้ได้ผลจริง

1.กฎ 50/30/20: การแบ่งรายได้เพื่อการออมอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยกฎ 50/30/20 เป็นแนวทางง่ายๆ ในการจัดสรรรายได้ โดยแบ่งเป็น 50% สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าเช่า ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงการชำระหนี้ 30% สำหรับค่าใช้จ่ายที่อยากได้ เช่น ท่องเที่ยว สันทนาการ และ 20% สำหรับการออมและการลงทุน วิธีนี้จะช่วยให้มีเงินเก็บอย่างต่อเนื่อง โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองใช้ชีวิตอย่างจำกัดจนเกินไป

2.เปรียบเทียบบัญชีเงินฝาก
– เงินฝากออมทรัพย์ มีข้อดีคือ ถอนได้ตลอดเวลา สภาพคล่องสูง แต่มีข้อเสียคือ ดอกเบี้ยต่ำ (ประมาณ 0.25-0.5% ต่อปี) เหมาะกับเงินสำรองฉุกเฉินและเงินที่ต้องใช้ในระยะสั้น
– เงินฝากประจำ มีข้อดีคือ ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ (ประมาณ 1-2% ต่อปี) แต่มีข้อเสียคือ ถอนก่อนกำหนดอาจไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือได้ดอกเบี้ยลดลง เหมาะกับเงินที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในระยะเวลาหนึ่ง

ที่มา : https://www.kasikornbank.com/th/kwealth/Pages/a702-t4-evg-smart-money-saving-kgth.aspx

พบกับโปรโมชั่นเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ ได้ในงานมหกรรมการเงินกรุงเทพ ครั้งที่ 25 MONEY EXPO 2025 BANGKOK ภายใต้แนวคิด “Resilient Wealth” ที่วารสารการเงินธนาคาร จัดขึ้นในวันที่ 15-18 พฤษภาคม 2568 ชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยเปิด 7 โซนบริการด้านการเงินการลงทุนครบวงจร พร้อมขนทัพแคมเปญโปรโมชั่นสุดพิเศษจากธนาคาร/สถาบันการเงิน/บล.บลจ./ บริษัทประกัน/หน่วยงานภาครัฐและเอกชนคับคั่ง พร้อมกิจกรรมสัมมนาจากกูรูชื่อดังแถวหน้าของเมืองไทย และกิจกรรมความบันเทิงมากมาย