Skip to content Skip to footer

สารัชถ์ รัตนาวะดี แชมป์เศรษฐีหุ้น 2567 รวย 2.4 แสนล้านบาท

“สารัชถ์ รัตนาวะดี” แห่งอาณาจักรกัลฟ์ แชมป์ปี 2567 รวย 2.4 แสนล้านบาท ครองแชมป์ 6 ปีซ้อน “นิติ โอสถานุเคราะห์” นักลงทุนรายใหญ่ทายาทโอสถสภา นั่งอันดับ 2 ถือพอร์ตหุ้นรวมมูลค่า 5.9 หมื่นล้านบาท “หมอเสริฐ” นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ-บางกอกแอร์เวย์ส เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 รวย 5 หมื่นล้านบาท “ตระกูลรัตนาวะดี” ครองแชมป์ตระกูลมั่งคั่ง 2.4 แสนล้านบาท

วารสาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ 31 แล้ว โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นในสัดส่วน 0.5% ขึ้นไป ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ mai ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดภายในวันที่ 30 กันยายน 2567

สำหรับผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2567 ในวารสาร ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ปรากฏว่า แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2567 ยังคงเป็นของ สารัชถ์ รัตนาวะดี รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)  ซึ่งเป็นการครองบัลลังก์แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยหุ้นที่สารัชถ์ถือครองในปีนี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 240,341.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,513.84 ล้านบาท หรือ 25.95%

สำหรับหุ้นที่สารัชถ์ถือครองประกอบด้วย หุ้น GULF ในสัดส่วน 35.81% สูงเป็นอันดับ 1 บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) ผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่เป็นบริษัทลูกของไทยยูเนี่ยน 0.67%  และ บมจ.ร็อคเทค โกลบอล (ROCTEC) บริษัทในเครือบีทีเอส กรุ๊ป ที่ให้บริการด้านงานระบบครบวงจร 4.89%

ความมั่งคั่งของสารัชถ์ที่หดหายไปเมื่อปีที่แล้ว ได้กลับมามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 240,341.89 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งเป็นมูลค่าการถือครองหุ้นที่สูงที่สุดนับตั้งแต่สารัชถ์ก้าวเข้ามาเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยเมื่อปี 2562 และนับเป็นมูลค่าสูงสุดในทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ตลอด 6 ปีของการครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย มูลค่าหุ้นที่สารัชถ์ถือครองอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาททุกปี โดยในปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่ก้าวขึ้นครองแชมป์ สารัชถ์มีความมั่งคั่งรวม 120,959.99 ล้านบาท ต่อมาในปีที่ 2563 ความมั่งคั่งลดลงไปเล็กน้อยที่ 115,289.99 ล้านบาท ก่อนทะยานสู่ 173,099.73 ล้านบาท ในปี 2564 และทะลุไปถึง 218,981.58 ล้านบาท ในปี 2565 ส่วนในปี 2566 ความมั่งคั่งลดลงมาที่ 190,828.06 ล้านบาท จนมาในปี 2567 มูลค่าหุ้นที่ถือครองกลับมาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 240,341.89 ล้านบาท

เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ได้แก่ นิติ โอสถานุเคราะห์ นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 59,472.43 ล้านบาท ลดลง 2,318.19 ล้านบาท หรือ 3.75%  ซึ่งเมื่อคลี่พอร์ตการลงทุนของนิติในปีนี้พบว่าลงทุนใน 10 บริษัท ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักจากปีที่แล้ว

เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ หมอเสริฐ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยถือครองหุ้น บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS)  9.39%  และ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA)  11.38% รวมมูลค่า 50,655.23 ล้านบาท ลดลง 6,336.45 ล้านบาท หรือ 11.12%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 4 และ 5 ได้แก่ สองเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) หรือชื่อเดิมคือ เมืองไทยลิสซิ่ง โดย ดาวนภา เพ็ชรอำไพ เศรษฐีหุ้นอันดับ 4  ถือหุ้น MTC 33.96% มูลค่า 35,640 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,720 ล้านบาท หรือ 37.50% และ ชูชาติ เพ็ชรอำไพ เศรษฐีหุ้นอันดับ 5 รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 35,440.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,506.70 ล้านบาท หรือ 36.66% โดยถือหุ้น MTC 33.49% และ บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) 3.08%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 6 ได้แก่ ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ ทายาทหมอเสริฐ โดยถือหุ้น BDMS 5.78% และ BA 6.49% รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวมทั้งสิ้น 30,943.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,308.63 ล้านบาท หรือ 16.18%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 7 ได้แก่ จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) โดยผู้ถือหุ้น  WHA  23.29%  บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) 1.93% ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART) 0.81% และทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล (WHAIR) 1.06%  รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครองทั้งสิ้น 19,679.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,118.40 ล้านบาท หรือ 6.03%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 8 ได้แก่  คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 19,458.40 ลดลง 1,923.06 ล้านบาท หรือ 8.99% ประกอบด้วย หุ้น BTS 31.16%  กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) 2.14%  บมจ.ซุปเปอร์ เทอร์เทิล (TURTLE) 1.64% และ บมจ.วีจีไอ (VGI) 0.61%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 9 ได้แก่ พิชญ์ โพธารามิก ทายาทคนเดียวของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดิศัย โพธารามิก ผู้ก่อตั้ง บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) โดยถือหุ้นมูลค่ารวม 19,370.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,105.24 ล้านบาท หรือ 46.02% โดยถือหุ้น JAS 52.17%  บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO) 57.73% และ บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS) 4.9%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ได้แก่  อนันต์ อัศวโภคิน บิ๊กอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ แบรนด์ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” โดยถือหุ้น บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) 23.93% และ บมจ.แมนดารินโฮเต็ล  (MANRIN) 1.36%  รวมถือครองหุ้นทั้งสิ้น 18,315.54 ล้านบาท ลดลง 3,992.46 ล้านบาท หรือ 17.90%

ปีนี้ ตระกูลรัตนาวะดี ยังคงครอง แชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยปี 2567 ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 โดยมีความมั่งคั่งรวม 240,341.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,513.84 ล้านบาท หรือ 25.95% จากการถือหุ้น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) และ บมจ.ร็อคเทค โกลบอล (ROCTEC) ของ สารัชถ์ รัตนาวะดี แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยในปีนี้

อันดับ 2 ตระกูลปราสาททองโอสถ โดย 6 เครือญาติในตระกูล ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ และ 5 ทายาท ปรมาภรณ์ พุฒิพงศ์ สมฤทัย อาริญา และ พล.ต.ท.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ที่ถือครองหุ้นรวมกันเป็นมูลค่า 102,679.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,859.19 ล้านบาท หรือ 6.05%

อันดับ 3 ตระกูลจิราธิวัฒน์ ถือครองหุ้นรวมกันมูลค่า 91,547.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74,089.29 ล้านบาท หรือ 424.38% เนื่องจากปีนี้เครือญาติที่ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ตั้งแต่ 0.5% ขึ้นไปได้กลับเข้ามาในทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยรวมทั้งหมด 45 คน

อันดับ 4 ตระกูลโอสถานุเคราะห์ โดย 12 เครือญาติในตระกูลโอสถสภา ได้แก่ นิติ คฑา ธัชรินทร์ นาฑี เกสรา ภาสุรี ปวราภา รัตน์ ศรีสุมา สมพร สุธิตา และเสรี โอสถานุเคราะห์ ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 75,642.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,921.35 ล้านบาท หรือ 4.02%

อันดับ 5 ตระกูลเพ็ชรอำไพ โดยเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) ดาวนภา-ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 71,080.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,226.70 ล้านบาท หรือ 37.08% นอกจาก MTC แล้ว ชูชาติยังถือหุ้นใน บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) อีกด้วย